อาหรับสปริงไม่ได้ตอบโจทย์การมีส่วนร่วมของประชาชน

ต้องยอมรับว่าวิกฤติตะวันออกกลางในการรับรู้ของสังคมไทยในปัจจุบันนี้ค่อนข้างอยู่ในวงจำกัด ส่วนใหญ่เราจะได้ทราบข่าวคราวความเคลื่อนไหวผ่านสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ ซึ่งเป็นการรายงานแบบหลวมๆ เฉพาะส่วน เฉพาะเหตุการณ์เท่านั้น ทั้งที่วิกฤติตะวันออกกลางส่งผลกระทบไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย

ดังนั้นการมองเหตุการณ์ให้รอบด้านจะช่วยให้ไทยกำหนดยุทธศาสตร์ต่อภูมิภาคตะวันออกกลางได้ถูกทิศทาง

ปัญหาตะวันออกกลางต้องวิเคราะห์กันตั้งแต่ช่วงแรกที่เกิดเหตุการณ์ “อาหรับสปริง” ซึ่งส่วนตัวเคยวิเคราะห์ไว้นานแล้วว่าจะกลายเป็น “อาหรับวินเทอร์” (Arab Winter : ความรุนแรงผันผวนทางการเมืองในโลกอาหรับ) ยกเว้นประเทศเดียว คือ ตูนิเซีย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดอาหรับสปริงแล้วจบลงด้วยความสวยสดงดงาม แต่ตูนิเซียแตกต่างจากอาหรับประเทศอื่นทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวิธีคิดของคน

หากมองดีๆ จะเห็นว่าสาเหตุที่อาหรับสปริงตั้งแต่ปี ค.ศ.2011 ไม่มีทางประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงในหลายๆ ประเทศ เพราะไม่ได้ตอบโจทย์ 3 ข้อ (3 อี) ที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน คือ

1.อาหรับสปริงไม่ได้ตอบโจทย์การมีส่วนร่วมของประชาชน (Engagement) 2.ไม่ได้นำไปสู่การศึกษา (Education) และ 3.ไม่ได้นำไปสู่การเปิดโอกาสหรือให้อำนาจแก่ประชาชนอย่างแท้จริง หรือ Empowerment ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่คนนอกตั้งคำถามกับมุสลิมมาตลอด โดยเฉพาะสิทธิสตรี

ทั้งหมดนี้คือสาเหตุที่นำมาซึ่งความล่มสลายของอาหรับสปริงในซีเรีย ลิเบีย แต่ตูนิเซียสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ จนกระทั่งนำไปสู่การตั้งรัฐบาลร่วมได้ จากการล่มสลายของอาหรับสปริงนี่เองที่นำไปสู่การตอกลิ่มปัญหาในตะวันออกกลาง

ปัญหาความวุ่นวายในตะวันออกกลางช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา หลายคนมองว่ามาจากสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะหลังจากที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ชนะเลือกตั้ง และต้องการถอนทหารออกจากอิรัก ลดบทบาทการแทรกแซง ซึ่งประเด็นนี้สำคัญมากที่จะต้องพูดกับพี่น้องมุสลิม คือ ประชาคมมุสลิมทั้งโลกก็ว่าได้ที่มองสหรัฐอเมริกาว่าเข้าไปในพื้นที่ตะวันออกกลางเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ ซึ่งจริงๆ แล้วทุกชาติมหาอำนาจเข้าไปกอบโกยผลประโยชน์ ไม่ได้มีเฉพาะสหรัฐ