นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สังคมอาหรับตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างมากจากโลกภายนอกการเปลี่ยนแปลงทางสังคมปรากฏให้เห็นทุกหย่อมหญ้า อันเป็นผลมาจากกระบวนการปรับเปลี่ยนสู่ความทันสมัยทางเศรษฐกิจและการทดลองทางการเมือง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในทุกแง่มุม แม้แต่วิถีชีวิตดั้งเดิมของพวกเร่ร่อนกลางทะเลทรายหรือพวก nomads และพวกที่อาศัยอยู่ในชนบทห่างไกล ก็ค่อยๆ เลือนหายไปการเปลี่ยนแปลงทางสังคมส่วนใหญ่ เป็นผลจากการรับเอาความเจริญและแนวคิดของตะวันตกมาใช้ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีการผลิตเพื่อบริโภคระบบสุขภาวะโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเงิน แนวคิดเรื่องการศึกษา ตลอดรวมถึงอุดมการณ์ทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวย่อมเป็นที่ถกเถียง (แต่ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้) อันปรากฏให้เห็นในระดับที่แตกต่างกันไปในทุกประเทศอาหรับ
ชาติอาหรับต้องเผชิญกับการไหลทะลักเข้ามาของชาวต่างชาติเช่นพวกที่เข้ามาในฐานะที่ปรึกษาผู้จัดการนักธุรกิจนักการเมืองนักท่องเที่ยว แรงงาน เป็นต้นจากการที่ชาวอาหรับได้สัมผัสชาวต่างชาติโดยตรงตลอดจนการรับรู้เรื่องราวของโลกภายนอกผ่านสื่อทำให้พวกเขาได้เรียนรู้โลกที่แตกต่างมากขึ้นนักศึกษาอาหรับนับหมื่นนับแสนมีโอกาสเดินทางไปเรียนต่อภายนอกภูมิภาคแล้วกลับมาพร้อมกับนิสัยใจคอและทัศนคติที่เปลี่ยนไปขณะเดียวกันเครือข่ายอินเตอร์เน็ตและโลกไซเบอร์ ก็เป็นตัวเร่งสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของชาวอาหรับในยุคปัจจุบันรัฐบาลอาหรับได้สร้างอาคารโรงเรียนโรงพยาบาลบ้านเรือนสนามบินและอาคารพาณิชย์มากมายโดยใช้เวลาก่อสร้างอย่างรวดเร็วจนทำให้รูปโฉมของนครและเมืองต่างๆ เปลี่ยนไปภายในไม่กี่ปีบางคนถึงกับหลงทางจำไม่ได้เมื่อได้มีโอกาสกลับไปเมืองนั้นอีกครั้ง หลังจากที่ได้ไปมาแล้วเมื่อ 2 ปีก่อนโรงแรมสมัยใหม่ผุดขึ้นมามากมายตามหัวเมืองใหญ่ๆถนนหนทางเต็มไปด้วยยานพาหนะร้านค้าบริการอินเตอร์เน็ตโทรศัพท์ร้านส่งโทรสาร ฯลฯ สินค้าอุปโภคบริโภคนำเข้ามีอยู่ดาษดื่นในทุกประเทศอาหรับนับตั้งแต่ชุดเจ้าสาวไปจนถึงสินค้าจิปาถะตามห้างร้านซุปเปอร์มาร์เกตแม้สิ่งเหล่านี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นผิวนอก แต่มันก็เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งในค่านิยมของชาวอาหรับ