อาหรับกับมุสลิมแตกต่างกันอย่างไร

มุสลิมกับอาหรับ มักถูกเข้าใจว่ามีความหมายเหมือนกัน หรือใช้แทนกันได้ความเข้าใจเช่นนี้มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ร่ำรวยไปด้วยน้ำมัน เป็นพื้นที่ที่มีสถานศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนามากมายและเป็นดินแดนต้นกำเนิดของอิสลาม ด้วยปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่าอาหรับก็คือมุสลิมทั้งหมด ในความเป็นจริงแล้ว ประชากรมุสลิมในโลกนั้นมีอยู่ประมาณร้อยละ 23 ของจำนวนประชากรโลกทั้งหมด  ชาวอาหรับเองก็ไม่ได้เป็นประชากรส่วนใหญ่ของโลกมุสลิม แต่มุสลิมส่วนใหญ่นั้นอาศัยอยู่นอกตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งประเทศที่มีมุสลิมมากที่สุดในโลก คือ 1.อินโดนีเซีย 2.ปากีสถาน 3.อินเดีย 4. บังกลาเทศ 5.อิหร่าน ทั้ง 5 ประเทศมีมุสลิมรวมกันคิดเป็นร้อยละ 85 ของมุสลิมในเอเชียทั้งหมด ซึ่งประเทศเหล่านี้ไม่มีประเทศไหนเลยที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวอาหรับ ในแง่ของชาติพันธุ์นั้นชาวอาหรับคือพวกเซไมต์ที่มีเชื้อสายเดียวกับชาวยิวแตกต่างทางชาติพันธุ์กับประชากรมุสลิมส่วนใหญ่ ในเวลาต่อมา ชาวอาหรับก็ได้เป็นตัวกลางในการถ่ายทอดวิทยาการต่างๆ ไปสู่ยุโรป เป็นผลให้ตะวันตกตื่นขึ้นจากการหลับใหล จนนำไปสู่การฟื้นฟูศิลปะวิทยาการของโลกสมัยใหม่ ที่มีส่วนส่งเสริมความก้าวหน้าเจริญรุ่งเรืองได้เท่าเทียมกับชาวอาหรับและชนชาติที่พูดภาษาอาหรับได้ แม้ชาวมุสลิมส่วนใหญ่จะชื่นชมชาวอาหรับในแง่ดังกล่าว แต่ชาวอาหรับก็ไม่ใช่ตัวแทนของอิสลามและไม่ได้เป็นตัวแทนของชาวมุสลิมทั้งหมด อาหรับหลายประเทศปกครองโดยเผด็จการที่อ้างอิสลามเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตน นอกจากนี้สังคมอาหรับยังเห็นประเพณีป่าเถื่อนที่ได้รับอิทธิพลถ่ายทอดมาจากขนบธรรมเนียมแบบชนเผ่าและสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ที่ขัดแย้งกับหลักคำสอนของอิสลาม สำหรับการแต่งกายของมุสลิมโดยทั่วไปนั้นขึ้นอยู่กับประเพณีนิยมของชนชาติและเผ่าพันธุ์ของตน เราจึงเห็นการแต่งกายของมุสลิมอินโดนิเซียซึ่งนิยมสวมเสื้อกางเกง และหมวกสีดำแตกต่างจากมุสลิมซูดาน ซึ่งนิยมสวมชุดโต๊บสีขาว และพันผ้าโพกศีรษะใหญ่ และแตกต่างจากมุสลิมซาอุดิอาระเบียและอาหรับ บางประเทศที่นิยมใช้ผ้าขาวหรือลายแดงคลุมศีรษะและเอาเชือกลักษณะวงกลมสีดำทับไว้ เช่นเดียวกับการแต่งกายของมุสลิมะห์ชาวมาเลเซียจะแตกต่างจาการแต่งกายของมุสลีมะฮฺชาวปากีสถานและอิหร่าน