Tag Archives: อาหรับ

อาหรับสปริงไม่ได้ตอบโจทย์การมีส่วนร่วมของประชาชน

ต้องยอมรับว่าวิกฤติตะวันออกกลางในการรับรู้ของสังคมไทยในปัจจุบันนี้ค่อนข้างอยู่ในวงจำกัด ส่วนใหญ่เราจะได้ทราบข่าวคราวความเคลื่อนไหวผ่านสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ ซึ่งเป็นการรายงานแบบหลวมๆ เฉพาะส่วน เฉพาะเหตุการณ์เท่านั้น ทั้งที่วิกฤติตะวันออกกลางส่งผลกระทบไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย

ดังนั้นการมองเหตุการณ์ให้รอบด้านจะช่วยให้ไทยกำหนดยุทธศาสตร์ต่อภูมิภาคตะวันออกกลางได้ถูกทิศทาง

ปัญหาตะวันออกกลางต้องวิเคราะห์กันตั้งแต่ช่วงแรกที่เกิดเหตุการณ์ “อาหรับสปริง” ซึ่งส่วนตัวเคยวิเคราะห์ไว้นานแล้วว่าจะกลายเป็น “อาหรับวินเทอร์” (Arab Winter : ความรุนแรงผันผวนทางการเมืองในโลกอาหรับ) ยกเว้นประเทศเดียว คือ ตูนิเซีย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดอาหรับสปริงแล้วจบลงด้วยความสวยสดงดงาม แต่ตูนิเซียแตกต่างจากอาหรับประเทศอื่นทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวิธีคิดของคน

หากมองดีๆ จะเห็นว่าสาเหตุที่อาหรับสปริงตั้งแต่ปี ค.ศ.2011 ไม่มีทางประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงในหลายๆ ประเทศ เพราะไม่ได้ตอบโจทย์ 3 ข้อ (3 อี) ที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน คือ

1.อาหรับสปริงไม่ได้ตอบโจทย์การมีส่วนร่วมของประชาชน (Engagement) 2.ไม่ได้นำไปสู่การศึกษา (Education) และ 3.ไม่ได้นำไปสู่การเปิดโอกาสหรือให้อำนาจแก่ประชาชนอย่างแท้จริง หรือ Empowerment ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่คนนอกตั้งคำถามกับมุสลิมมาตลอด โดยเฉพาะสิทธิสตรี

ทั้งหมดนี้คือสาเหตุที่นำมาซึ่งความล่มสลายของอาหรับสปริงในซีเรีย ลิเบีย แต่ตูนิเซียสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ จนกระทั่งนำไปสู่การตั้งรัฐบาลร่วมได้ จากการล่มสลายของอาหรับสปริงนี่เองที่นำไปสู่การตอกลิ่มปัญหาในตะวันออกกลาง

ปัญหาความวุ่นวายในตะวันออกกลางช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา หลายคนมองว่ามาจากสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะหลังจากที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ชนะเลือกตั้ง และต้องการถอนทหารออกจากอิรัก ลดบทบาทการแทรกแซง ซึ่งประเด็นนี้สำคัญมากที่จะต้องพูดกับพี่น้องมุสลิม คือ ประชาคมมุสลิมทั้งโลกก็ว่าได้ที่มองสหรัฐอเมริกาว่าเข้าไปในพื้นที่ตะวันออกกลางเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ ซึ่งจริงๆ แล้วทุกชาติมหาอำนาจเข้าไปกอบโกยผลประโยชน์ ไม่ได้มีเฉพาะสหรัฐ

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นแรงผลักดันของอาหรับ

อนุสรณ์ความรุ่งเรืองของโลกอาหรับ ที่มีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นแรงผลักดัน คือเมือง Isfahan ในอิหร่านตะวันออก และ Alhambra ในสเปนตอนใต้ เมือง Alhambra สร้างหลังเมือง Isfahan เมืองทั้งสองมีความฟุ้งเฟ้อ ตามแบบของวังในนิยายอาหรับเรื่อง “นิทราชาคริต” ซึ่งครั้งหนึ่ง เป็นหนังสือระดับมัธยมศึกษาของประเทศไทย ความฟุ้งเฟ้อที่มากับความสำเร็จ ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงเป็นการขัดกับค่านิยมของชาวมุสลิมอย่างชัดเจน ในที่สุดนักปราชญ์อาหรับ จึงได้มีการวางแผนเลิกวิทยาศาสตร์ ประเทศไทยได้ตั้งสถาบันการสอนวิทยาศาสตร์ เพื่อใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นแรงพัฒนาประเทศไทย และประเทศไทยได้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่แผนเลิกวิทยาศาสตร์และโลกอาหรับนั้น ได้ผลค่อนข้างชัดเจนบริบูรณ์ ลูกบุญธรรมคือวิทยาศาสตร์ถูกขับไล่ออกจากบ้าน และหนีตามไปเป็นสะใภ้หรือเขยของโลกตะวันตก แล้วแต่เราจะคิด วิทยาศาสตร์ให้เป็นหญิงหรือชาย ประเทศในกลุ่มโลกตะวันตกที่เข้าสู่ยุค renaissance คือ สเปนและอิตาลี ทั้งนี้หาได้เป็นเรื่องบังเอิญไม่ ด้วยเหตุที่ประเทศทั้งสองอยู่ใกล้ชิดกับวัฒนธรรมอาหรับ ต่อจากนั้นวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ จึงได้แพร่ไปสู่ประเทศยุโรปอื่น ๆ โดยเฉพาะอังกฤษ เยอรมนี รัสเซีย การพัฒนาวิทยาศาสตร์ ประกอบกับการปฏิวัติทางอุตสาหกรรม ทำให้โลกตะวันตกมีอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร อย่างไม่มีประเทศใด เคยประสบมาก่อน ส่วนประเทศที่ได้

อานิสงฆ์ทางอ้อม คือประเทศทวีปอเมริกา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ประเทศกลุ่มโลกตะวันตก ได้อาศัยระบบการเมือง ที่ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน ประกอบกับความเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีใช้เป็นเหตุหรือความชอบธรรม ที่จะเข้าไปจัดระเบียบสังคมให้แก่โลกที่สาม ทำให้ประเทศในโลกที่สามซึ่งรวมทั้งโลกอาหรับด้วย ได้พัฒนา มาเป็นประเทศ อาณานิคมบ้าง กึ่งอาณานิคมบ้าง หรืออาณานิคมแบบแฝง (klepto colony) บ้าง ภาวะเป็นผู้นำ ทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของประเทศในยุโรป ถึงจุดสูงสุดเมื่อประเทศรัสเซียยิงจรวดส่งดาวเทียม Sputnik ไปโคจรรอบโลกในปี 1954 และสหรัฐอเมริกาได้ตัดสินใจเป็นประเทศผู้นำทางวิทยาศาสตร์ ทำให้สหรัฐเป็นผู้นำทางด้านการทหาร เศรษฐกิจ และการเมืองของโลก และไม่มีทีท่าว่าจะหลุดจากตำแหน่งนี้ไปได้ภายใน 50 – 100 ปีข้างหน้า

ประเทศในโลกที่สามที่เจริญก้าวหน้าไปได้ดี มักจะมีนโยบายวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม และตัวชี้บ่งที่วัดและเปรียบเทียบได้ เช่น จำนวนนักวิทยาศาสตร์ต่อประชากรพันคน งบประมาณวิจัยค้นคว้า วิทยาศาสตร์เป็นเปอร์เซนต์ของผลิตผลรวมมวล ฯลฯ แต่บางประเทศกลับมีนโยบายที่หน่วงเหนี่ยววิทยาศาสตร์ เป็นต้นว่านโยบายที่แบ่งวิทยาศาสตร์ออกเป็นสองประเภท คือประเภทที่มีบทบาทในการพัฒนาประเทศ และประเทศที่ไม่มีบทบาท ในการพัฒนาประเทศ และรวมการพัฒนาวิทยาศาสตร์มูลฐาน เช่น คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี หรือแม้แต่ ชีววิทยา เข้าไว้ในประเภทหลัง